Thailand Rivers Expedition Project 2010
“RIVERS OF THE KINGDOM”
ความเป็นมาของโครงการ
ถ้าหากเราพูดถึงแม่น้ำในเมืองไทย ทุกคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่รู้จัก แต่ถ้าจะถามลึกลงไปอีกว่า แม่น้ำของประเทศของเราเป็นอย่างไร แม้แต่แม่น้ำที่อยู่ในพื้นที่ใกล้บ้านของเราเองเรากับให้ความสนใจกันน้อยไปด้วยซ้ำ บางคนอาจเห็นแม่น้ำแค่ช่วงสั้น ๆ บริเวณที่เราอาจจะเคยขับรถผ่านตอนไปทำงานหรือขับกลับบ้าน
บางครั้งในบางพื้นที่ บางแง่มุม อาจเป็นที่ซุกซ่อนความสวยงามของวิถีชีวิตความเชื่อ หรือความสวยงามตามธรรมชาติเอาไว้ ซึ่งยากนักที่คนทั่วไปจะได้รู้และได้เห็น บางแม่น้ำอาจจะเสื่อมโทรมจนแทบสูญหายเหลือเพียงก้นแม่น้ำแห้ง ๆ หรือดอนทรายที่อยู่ก้นแม่น้ำ
การเดินทางค้นหา และทำความรู้จักกับแม่น้ำในเมืองไทยจึงเกิดขึ้น จากแรงบันดาลใจของคนกลุ่มเล็ก ๆ เราเชื่อว่ายังมีสิ่งที่สวยงามยังซุกซ่อนและรอพวกเราเข้าไปทำความรู้จัก และนำสิ่งเหล่านั้นมาถ่ายทอดให้คนอื่น ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน
เพราะแม่น้ำเปรียบเสมือนสายเลือดที่หล่อเลี้ยงคนไทยมาตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน การใช้ชีวิตของผู้คนริมฝั่งแม่น้ำล้วนมีมิติความสัมพันธ์กันอย่าแนบแน่นกับวิถีชีวิต ไม่ว่าตั้งแต่เกิดมา เติบโต ทำมาหากิน แหล่งอาชีพ แหล่งอาหาร รวมไปถึงพิธีกรรมในวันสุดท้ายของชีวิต
ทั้งมิติทางวัฒนธรรมในแต่ละเชื้อชาติ กลุ่มชน ชาติพันธ์ วัฒนธรรมวิถีชีวิตของผู้คนตลอดริมฝั่งน้ำมีมิติความหลายหลายเรียงร้อยกัน อย่างสอดคล้องกลมกลืน
หลังจากการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่ง และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการขนส่งบนท้องถนน ยิ่งทำให้เราค่อย ๆ ถอยห่างออกจากวิถีชีวิตที่อาศัยสายน้ำเป็นเส้นเลือดหลัก การพึ่งพาและอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างแนบแน่นและพึ่งพา ทำให้เราอาจหลงลืมและละทิ้งรากเหง้าของเราไว้ เป็นเพียงดังเช่น รอยเท้าที่เดินจากมา
แม่น้ำในแต่ละพื้นทีลดบทบาทความสำคัญ ทางด้านเศรษฐกิจ ดูเหมือนว่าแม่น้ำจะค่อย ๆ ถอยห่างจากความสำคัญที่อยู่ในชีวิตประจำวัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้กับวิถีชีวิตของเรากลับแยกกันไม่ออก
บางครั้งอาจทำให้คนเราหลงลืมรากเง้า วิถีชีวิต ความเข้าใจ ความเอื้ออาทรที่เคยมี ความผูกพันกับในธรรมชาติที่มีมายาวนาน ระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ ว่าเคยเอื้ออาทรกันอย่างไร
บางครั้งการกลับไปค้นหาอดีตของเรามันอาจเป็นทางรอดเดียวที่จะสามารถทำให้เราสามารถมองเห็นจุดตรงกลางที่ทำให้ ธรรมชาติกับมนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนในอนาคต เหมือนเช่นอดีตที่เคยผ่านมาได้
เราหวังว่าในการเดินทางเราคงได้รับรู้ซึมซับ และส่งมอบความรู้สึกดี ๆ ที่พวกเราได้รับมาจากการเดินทางให้ทุก ๆ คนได้รู้ รวมไปถึงการบอกให้ทุกคนได้ช่วยกันดูแล และตระหนักถึงการดูแลแม่น้ำของตัวเองให้ดีที่สุด ซึ่งสิ่งนั้นอาจจะหมายถึง การดูแลตัวเองและอนาคตของลูกหลานของเรา
วัตถุประสงค์
1. เพื่อบันทึกสถิติการเดินทางด้วยเรือคยัคที่ไกลที่สุดในเมืองไทย บนเส้นทางกว่า 4,000 กม.บนลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลำน้ำสาขา
2. เพื่อสำรวจธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยว วิถีชีวิต วัฒนธรรมริมฝั่งแม่น้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลำน้ำสาขา ตั้งแต่ต้นน้ำมาจนถึงอ่าวไทย อาทิ แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำเจ้าพระยา
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. ได้ทราบสถาณการณ์ ข้อมูล วิถีชีวิต แหล่งท่องเที่ยวในแง่มุมต่าง ๆ ของแม่น้ำในประเทศไทย
2. ทำให้คนทั่วไปเกิดความตะหนักในความสำคัญของเม่น้ำและช่วยกันรักษา
3. ทำให้เยาวชนเห็นตัวอย่าง มีแรงบันดาลใจในการทำประโยชน์เพื่อสังคม
ระยะเวลาการดำเนินงาน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-สิงหาคม เป็นเวลา 6 เดือน
การประชาสัมพันธ์และการติดตามการสำรวจในโครงการ
การประชาสัมพันธ์ผ่านเวปไซด์ และ เวป Blog รวมไปถึงภาพถ่าย วีดีโอบันทึกการสำรวจ
http://thailandriverexpedition2010/blogspot.com
การเขียนสกู๊ปลงในหนังสือนิตยสาร อาทิ Nature explorer, NG ,สารคดี ฯลฯ
รายการสกู๊ปข่าว อาทิ ร่วมมือร่วมใจ ฯลฯ
การดำเนินโครงการ
1. ช่วงเดือนมกราคมเป็นช่วงการเตรียมงาน
2. การพายเรือสำรวจแม่น้ำจากต้นน้ำแต่ละสาย ระหว่างเส้นทางมีการแวะพักตั้งแค้มป์ และขึ้นบกถ่ายภาพ สำรวจแหล่งท่องเที่ยว วิถีชีวิตริมน้ำ วัฒนธรรม ประเพณีตลอดสองข้างทาง
3. เสร็จสิ้นการเดินทางในแต่ละวันจะมีการบันทึกการเดินทาง และอัพเดทข้อมูล การเดินทางถึงจุดใดบ้าง ลงภาพ วีดีโอลงในบล็อก http://thailandriverexpedition2010.blogspot.com
4. ระหว่างการเดินทางในแต่ละวัน ทุกคนสามารถติดตามการเดินทางได้โดยเข้าไปดูตำแหน่งการเดินทางในแต่ละวัน รวมไปถึงจุดที่น่าสนใจบนสองฝั่งแม่น้ำ จะทำให้ผู้ที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมในการเดินทาง
5. สำหรับผู้ที่สนใจจะเดินทางและมีเรืออยู่แล้ว สามารถร่วมพายเรือกับทีมสำรวจ ในช่วงสั้น ๆ ตามสะดวกโดยสามารถวางแผนการเดินทางได้จากแผนที่ที่อัพเดทในแต่ละวันใน Google map
6. หลังจากจบแม่น้ำแรกเรือจะถูกขนไปลงต้นน้ำในแม่น้ำต่อไปทางรถยนต์ โดยเว้นช่วงประมาณ 7 วันเพื่อพักผ่อนร่างกายก่อนพายต่อในแม่น้ำถัดไป
แม่น้ำใดบ้างที่พวกเราจะสำรวจช่วงแรกของโครงการ ?
ในเป้าหมายโครงการทั้งหมด 29 ลำน้ำทั่วประเทศ เปิดโครงการแรกเพื่อนำร่องโดยเลือกแม่น้ำที่ยาวเป็นอันดับต้น ๆ คือแม่น้ำในภาคเหนือและภาคกลาง ก็คือ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก รวมใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 6 เดือน
แม่น้ำทั้งหมดในการดำเนินโครงการช่วงแรกมี 7 แม่น้ำดังนี้

1. แม่น้ำป่าสัก ระยะทางประมาณ 700 km ต้นน้ำอยู่ที่เทือกเขาเพชรบูรณ์ 1 อ.ด่านซ้าย จ.เลย ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.อยุธยา ใช้ระยะเวลาในการพายเรือสำรวจประมาณ 20-30 วัน
2. แม่น้ำวัง ระยะทางประมาณ 430 km มีต้นน้ำอยู่ที่เทือกเขาผีปันน้ำ ในเขต อ.พาน จ.เชียงราย และปลายน้ำไหลไปบรรจบกับแม่น้ำปิงบริเวณ อ.บ้านตาก จ.ตาก ใช้ระยะเวลาในการพายเรือสำรวจประมาณ 11-15 วัน
3. แม่น้ำยม ระยะทางประมาณ 773 km. ต้นน้ำอยู่บริเวณเทือกเขาผีปันน้ำ อ.ปง จ.พะเยา และไหลไปรวมกับแม่น้ำน่าน ที่ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ใช้เวลาประมาณ 25-35 วัน
4. แม่น้ำน่าน ระยะทางประมาณ 815 km ต้นน้ำอยู่บริเวณเทือกเขาหลวงพระบาง อ.ปัว จ.น่าน และไหลไปรวมกับแม่น้ำปิง ที่ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ จนทำให้เกิด แม่น้ำเจ้าพระยา ใช้เวลาประมาณ 25-35 วัน
5. แม่น้ำปิง ระยะทางประมาณ 680 km ต้นน้ำอยู่ที่เทือกเขาแดนลาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ และไหลไปรวมกับแม่น้ำน่าน ที่ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ใช้เวลาประมาณ 20-30 วัน
6. แม่น้ำท่าจีน ระยะทางประมาณ 320 km เป็นแม่น้ำสายสำคัญที่สุดของจังหวัดสมุทรสาคร ต้นแม่น้ำมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ไหลผ่านจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครปฐม แล้วไหลลงสู่อ่าวไทยที่ตำบลท่าฉลอม อำเภอเมืองสมุทรสาคร ใช้เวลาประมาณ 10-15 วัน
7. แม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทางประมาณ 380 km ต้นน้ำอยู่บริเวณที่แม่น้ำปิงและแม่น้ำน่านไหลมาบรรจบกันที่ ต.ปากน้ำโพ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ และไหลลงสู่อ่าวไทยบริเวณ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ใช้เวลาประมาณ 10-15 วัน
รายชื่อทีมงานและนักคยัคในโครงการ
1. หัวหน้าโครงการ นายอนุกูล สอนเอก
2. นักคยัค นายอนุกูล สอนเอก
นางสาวพักตร์ดีสร วงศ์หนองเตย
นายประทีป ขันเพ็ชร
3. ฝ่ายประสานงาน นายสัจจะ เฉลียวใจ
4. ประชาสัมพันธ์โครงการ นางสาวปรางค์ทิพย์ หีบเงิน
sponsor by
